ความเป็นมาของเครื่องพิมพ์ดีดไทย


เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย เกิดขึ้นเมื่อ Edwin Hunter Mcfarland ชาวอเมริกัน ซึ่งรับราชการ ในตำแหน่งเลขานุการส่วนพระองค์ ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีแนวความคิดที่จะสร้างเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น จึงได้เดินทางกลับไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสำรวจหาโรงงานที่สามารถผลิตเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยได้

     พ.ศ.2434 เขาได้เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อสำรวจว่าจะมีบริษัทใดที่สนใจผลิตเครื่องพิมพ์ดีดเป็นภาษาไทยบ้าง ซึ่งก็พบว่าบริษัท Smith Premier ในเมือง New York สนใจที่จะร่วมผลิต ดังนั้น Macfarland จึงได้ร่วมมือกับบริษัท Smith Premier ผลิตต้นแบบเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น โดยได้ร่วมออกแบบและวางตำแหน่งตัวอักษรไทยที่จะใช้ในเครื่องพิมพ์ดีดได้สำเร็จ 
โรงงาน Smith Premier ที่ New York

     ลักษณะเครื่องพิมพ์ดีดไทย Smith Premier นั้น เป็นแบบแคร่ตาย(แคร่พิมพ์ไม่เลื่อน)ทำงานแบบตรึงแคร่อักษร (fixed carriage typed typewriter) ซึ่งสามารถใช้งานได้ดี และมีแป้นพิมพ์ 7 แถว ไม่มีแป้นยกอักษรบน( Shift key) จึงยังไม่สามารถพิมพ์โดยวิธีพิมพ์สัมผัสได้( Touch Typing)ต้องพิมพ์โดยวิธีใช้นิ้วเคาะทีละแป้น แต่ในขณะออกแบบแป้นอักษรไทยเพื่อบรรจุลงในแผงแป้นอักษรนั้น Mcfarland ได้ลืมบรรจุตัวอักษร "ฃ" ( ขอ ขวด ) และ ฅ (คอ คน) ลงไปด้วย แต่โชคดีที่ยังมีอักษรอื่นที่พ้องเสียงสามารถใช้แทนกันได้


เครื่องพิมพ์ดีดสมัยแรก

หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2435 Mcfarland ได้นำเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยเครื่องแรกยี่ห้อ Smith Premier เข้ามาถวายพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ได้ทรงทดลองพิมพ์และเป็นที่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง จึงถือได้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นนักพิมพ์ดีดไทยพระองค์แรก ซึ่งต่อมาพระองค์ได้ทรงสั่งซื้อเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย Smith Premier จำนวน 17 เครื่องเข้ามาใช้ในราชการ 
ต่อมา Mcfarland ได้เดินทางกลับไปสหรัฐฯและอยู่ที่นั่นจนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ. 2438 นายแพทย์ George B. Mcfarland หรือ อำมาตย์เอก พระอาจวิทยาคม ซึ่งเป็นน้องชายก็ได้รับสืบทอดกิจการเครื่องพิมพ์ดีดของพี่ชายมาไว้ และได้นำไปตั้งแสดงและสาธิตในร้านทำฟันของตนเอง จนเป็นที่รู้จักและสนใจของประชาชนอย่างมาก ดังนั้น เขาจึงได้สั่งซื้อเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย Smith Premier เข้ามาจำหน่าย โดยตั้งร้านที่หัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนวังบูรพา ชื่อร้าน Smith Premier Store ในปี พ.ศ. 2441

พระอาจวิทยาคม
ที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/พระอาจวิทยาคม_(ยอร์ช_บี._แมคฟาร์แลนด์)

ในปี พ.ศ. 2458 หลังจากที่บริษัท Smith Premier ได้ขายสิทธิการผลิตให้แก่บริษัท Remington แล้ว บริษัท Remington ได้ยกเลิกการผลิตเครื่อง Smith Premier และหันไปผลิตเครื่องแบบยกแคร่(Sliding, Shifting Carriage)ได้แทน แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมจากคนไทยในยุคนั้น


พนักงานของร้านเครื่องพิมพ์ดีด Remington และ Smith Premier
ที่มา: https://jhm57th.weebly.com/founder-history.html

ในปี พ.ศ.2465 Dr.George Macfarland เดินทางไปสหรัฐอเมริกา และได้ร่วมให้คำปรึกษาแก่บริษัท Remington ถึงการผลิตเครื่องพิมพ์ดีดไทยขนาดเล็กที่สามารถพิมพ์สัมผัสสิบนิ้วได้ จนสามารถทำได้สำเร็จเป็นแป้นแบบ 4 แถว และได้นำเครื่องพิมพ์ดีดรุ่นดังกล่าวเข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทยจนได้รับความนิยมแทนที่เครื่อง Smith Premier ในเวลาต่อมา
ต่อมา Dr.George Macfarland ได้ร่วมกับพนักงานในห้างของท่าน 2 คน ทำการออกแบบและจัดวางแป้นอักษรเสียใหม่เพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่ โดยมีนายสวัสดิ์ มากประยูร เป็นช่างประดิษฐ์ก้านอักษร และนายสุวรรณประเสริฐ เกษมณี (นายกิมเฮง) เป็นผู้ออกแบบการวางตำแหน่งแป้นอักษร โดยใช้เวลา 7 ปีจึงสำเร็จเมื่อปี พ.ศ.2474 และเรียกแป้นชนิดนี้ว่าแป้นแบบ เกษมณี  ตามชื่อผู้ออกแบบ จนกลายเป็นแป้นแบบมาตรฐานถึงปัจจุบัน โดยแป้นแบบเกษมณีมีรูปแบบการจัดวางตัวอักษรในแป้นเหย้าเป็น "ฟ ห ก ด ่ า ส ว"
ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 นายสฤษดิ์ ปัตตะโชติ ตำแหน่งนายช่างเอก กรมชลประทาน ได้ศึกษาพบว่าแป้นพิมพ์แบบเกษมณียังมีข้อบกพร่อง คือขาดความสมดุลในการวางตำแหน่งแป้นอักษรระหว่างมือซ้ายและขวา เพราะพบว่ามือขวาต้องทำงานถึง 70 % ในขณะที่มือซ้ายทำงานเพียง 30 % เท่านั้น จึงได้ทำการปรับปรุง และออกแบบการจัดวางตำแหน่งแป้นอักษรไทยใหม่ ซึ่งเรียกว่าแป้นปัตตะโชติ และได้ทำการวิจัยจนพบว่า แป้นปัตตะโชติสามารถพิมพ์ได้เร็วกว่าแป้นเกษมณีถึง 26.8% แต่นักพิมพ์ดีดทั้งหลายได้ชินกับการพิมพ์บนแป้นเกษมณีแล้ว อีกทั้งต้นทุนในการปรับเปลี่ยนแป้นของเครื่องพิมพ์ดีดที่ใช้อยู่ก็สูง จึงทำให้แป้นแบบเกษมณียังคงได้รับความนิยมมาจนทุกวันนี้ และได้กลายเป็นแป้นพิมพ์ภาษาไทยมาตรฐานสำหรับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน
นอกจากนี้พระอาจวิทยาคม ก็ยังเป็นบุคคลแรกที่เปิดโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดภาษาไทยแบบสัมผัสขึ้นในปี พ.ศ. 2470 อีกด้วย

แป้นพิมพ์เกษมณี
แป้นพิมพ์ปัตตะโชติ

ที่มา: http://fordnattawut.blogspot.com/2014/09/blog-post_35.html


ความคิดเห็น

  1. เครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทย เกิดขึ้นเมื่อ Edwin Hunter Mcfarland ชาวอเมริกัน ซึ่งรับราชการ ในตำแหน่งเลขานุการส่วนพระองค์ ในสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้มีแนวความคิดที่จะสร้างเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยขึ้น จึงได้เดินทางกลับไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อสำรวจหาโรงงานที่สามารถผลิตเครื่องพิมพ์ดีดภาษาไทยได้

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น